วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย


อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานกรุงสุโขทัย ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีอำนาจอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า (เขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า) อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยปัจจุบัน (เขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนจรดวิถีถ่อง)
ผังเมืองสุโขทัยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตร มีประตูเมืองอยู่ตรงกลางกำแพงเมืองแต่ละด้าน ภายในยังเหลือร่องรอยพระราชวังและวัดอีก 26 แห่ง วัดที่ใหญ่ที่สุดคือวัดมหาธาตุ อุทยานแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากรด้วยความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโก มีผู้เยี่ยมชมหลายแสนคนต่อปี ซึ่งสามารถเดินเท้าหรือขี่จักรยานเที่ยวชมได้
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้รับการประกาศคุ้มครองครั้งแรกตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 โครงการฟื้นฟูอุทยานแห่งนี้ก็ได้รับการอนุมัติ และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 โดยในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534[ต้องการอ้างอิง] องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัยภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร"

วัดสระศรี

วัดสระศรี
วัดสระศรี จ.สุโขทัย
            ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ใกล้กับศาลตาผาแดง และวัดชนะสงคราม เป็นโบราณสถานขนาดกลาง บนเกาะ กลางสระน้ำขนาดใหญ่สุด ที่เรียกว่า ตระพังกวน ซึ่งนับเป็นโบราณสถานที่ภูมิทัศน์สวยงาม และเป็นบริเวณที่จัดงานเผาเทียนเล่นไฟ รวมทั้งงานแสงสีเสียงของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ภายในวัดสระศรี มีโบราณสถานประกอบด้วย
             พระวิหาร มีขนาดค่อนข้างใหญ่เก้าห้อง ผนังก่อด้วยอิฐถือปูน เสาแปดเหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้ามีมุขเด็จและบันไดทางขึ้นทั้งสองด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย พุทธลักษณะงดงาม พระเกศาขมวดใหญ่ ยอดเป็นเปลว ประดิษฐานที่ฐานชุกชี
              เจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร เป็นเจดีย์ทรงทรงระฆัง หรือทรงลังกา ขนาดใหญ่ ฐานชั้นล่างเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ยกสูง ก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนบนเป็นชั้นบัวถลา องค์ระฆัง บัลลังก์ ก้านฉัตรและปลียอด ภายในได้มีการขุดพบเจดีย์จำลองสำริด เจดีย์ดีบุก กรวยชิน กรวยเหล็ก โดยสมบัติดังกล่าวปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง
              เจดีย์ขนาดเล็ก ศิลปะศรีวิชัยผสมลังกา ตั้งอยู่ด้านข้างเจดีย์ประธาน รอบเจดีย์มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ ด้านหน้าเจดีย์ประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัย
              พระอุโบสกลางน้ำ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร บนเกาะที่มีขนาดเล็ก เป็นพระอุโบสถสองห้อง เหลือเฉพาะส่วนฐานและเสา มีเสมาหินชนวนปักอยู่โดยรอบ อันเป็นการแสดงเขตของพุทธาวาส
            วัดสระศรี ตั้งอยู่ที่ ถนนทางหลวงหมายเลข 12 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
แผนที่วัดสระศรี
 พระวิหารเก้าห้อง
             ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถกลางน้ำ เป็นพระวิหารขนาดใหญ่มีขนาดเก้าห้อง ฐานก่ออิฐถือปูน ด้านหน้าเป็นมุขเด็จ มีบันไดทางขึ้นทั้งสองด้าน ภายในประกอบด้วยเสาแปดเหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลง ประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยเป็นประธาน มีเจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร
  พระประธานภายในพระวิหาร
              ประดิษฐานบนฐานรูปกลีบบัว เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ พุทธลักษณะงดงามตามแบบสุโขทัย พระพักตร์อิ่มเอิบ พระเกศาขมวดใหญ่ ยอดเป็นเปลว
พระอุโบสถกลางน้ำ
           ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร กลางสระตระพังกวน ล้อมรอบด้วยน้ำ อันเป็นเขตบริสุทธิ์ของสังฆาวาส ฐานและเสาพระอุโบสถก่อด้วยศิลาแลง มีเสมาหินชนวนปักอยู่โดยรอบพระอุโบสถ
เจดีย์ศิลปะศรีวิชัยผสมลังกา

              ตั้งอยู่ด้านข้างเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ศิลปะศรีวิชัยผสมลังกา ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของวัดสระศรี ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ทรงสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง? ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาที่งดงาม
 
สะพานทางเข้าวัดสระศรี


วัดช้างล้อม




วัดช้างล้อม
วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานสำคัญ ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีเจดีย์ทรงลังกาที่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช้างปูนปั้นเต็มตัวล้อมรอบ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน รวม 39 เชือก หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นเครื่องหมายการตรัสรู้ ประกอบกับวิมุตติ 2 ประการ
สถานที่ตั้ง
ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเกือบกึ่งกลางตัวเมืองศรีสัชนาลัย บริเวณที่ราบด้านเชิงเขาพนมเพลิงด้านทิศใต้ ในแนวเดียวกันกับวัดเจดีย์เจ็ดแถว
ประวัติ
            นักวิชาการสันนิษฐานว่า วัดช้างล้อมนี้น่าจะเป็นวัดเดียวกันกับที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่กล่าวไว้ว่าในปี พ.ศ. 1829 พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ขุดเอาพระธาตุขึ้นมาทำบูชา และฝังลงในกลางเมืองศรีสัชนาลัยก่อนก่อพระเจดีย์ทับลงไป
สถาปัตยกรรม
โบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงลังกาตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยมีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ประตูด้านหน้าและประตูด้านหลังเป็นทางเข้าออกก่อเป็นกำแพงศิลาแลงหนามีการเล่นระดับที่ซุ้มประตูอย่างสวยงาม สำหรับประตูด้านข้างก่อเรียงอิฐศิลาแลงปิดไว้เป็นประตูตัน
เจดีย์ประธานทรงลังกาขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันหลายชั้น มีทางเดินเป็นบันไดขึ้นไปยังชั้นบน โดยรอบเจดีย์มีช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 9 เชือก (ยกเว้นด้านหนึ่งซึ่งเป็นบันไดทางขึ้นมีเพียง 8 เชือก) และที่มุมมีช้างขนาดใหญ่ประดับอีก 4 เชือก รวมเป็น 39 เชือก ช้างเชือกใหญ่ที่อยู่มุมเจดีย์เป็นช้างทรงเครื่องมีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ และข้อเท้าสวยงามกว่าช้างที่ฐานสี่เหลี่ยม ระหว่างช้างปูนปั้นที่ฐานนั้นจะมีเสาประทีปศิลาแลงสลับเป็นระยะ ด้านหน้าช้างแต่ละเชือกจะมีพุ่มดอกบัวตูมปูนปั้นวางตั้งอยู่
ปัจจุบันช้างปูนปั้นได้ผุผังไปเป็นส่วนใหญ่ เหลือที่เห็นเป็นรูปหัวช้างอยู่จำนวนไม่กี่เชือก แต่ยังคงแสดงออกถึงความงดงามของประติมากรรมสมัยสุโขทัยอย่างเต็มที่ ช้างปูนปั้นที่วัดช้างล้อมในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมีลักษณะเด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่นๆ คือ ยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่เทียบเท่าหรือใหญ่กว่าช้างจริง
เบื้องเจดีย์ประธานมีบันได 2 ชั้นขึ้นสู่ลานประทักษิณ เหนือฐานประทักษิณมีซุ้มพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย 20 ซุ้ม โดยส่วนใหญ่ได้ผุผังไปเกือบหมด ยังเหลือที่สมบูรณ์เพียงไม่กี่องค์ เหนือบริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ก้านฉัตรประดับด้วยพระรูปพระสาวกปางลีลาปูนปั้นแบบนูนต่ำจำนวน 17 องค์
นอกจากนั้นวัดช้างล้อมยังมีวิหารที่อยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน นอกนั้นเป็นวิหารขนาดเล็ก 2 หลัง และเจดีย์รายอีก 2 องค์
 

วัดตะพานหิน


วัดตะพานหิน
            วัดตะพานหิน หรือ วัดสะพานหิน ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยทางทิศตะวันตก โดยอยู่ในเขตอรัญวาสี หรือวัดป่า วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงประมาณ 200 เมตร บริเวณทางเดินขึ้นโบราณสถานมีทางเดินปูลาดด้วยหินชนวนจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทาง 300 เมตร สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร เรียกว่า พระอัฏฐารส
สถาปัตยกรรม 
              บนลานวัดมีเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมขนาดไม่สูงมากนัก มีวิหารก่อด้วยอิฐ เสาก่อด้วยศิลาแลง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัย ซึ่งมีความสูงสง่าเช่นเดียวกับพระพุทธรูปในเขตเมืองอย่างที่วัดมหาธาตุ โดยมีชื่อเรียกว่า พระอัฏฐารส โดยที่อาณาจักรสุโขทัยนั้น ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์จากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ได้รับมาจากประเทศศรีลังกา กล่าวคือในประเทศศรีลังกาตั้งแต่ช่วงปลายสมัยอนุราธปุระ และในสมัยโปลนนาลุวะ นั้น มีความนิยมในการสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปยืนที่มีความสูงเช่นนี้ด้วย ตัวอย่างที่กล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบให้กับพระอัฏฐารสในสุโขทัย คือ พระอัฏฐารสในวิหารลังกาดิลก
สำหรับพระอัฏฐารสที่วัดสะพานหินเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัยสร้างตามคติของลังกาที่ว่า พระพุทธเจ้ามีความสูงเท่ากับ 18 ศอก โดยสร้างเป็นพระพุทธรูปยกพระหัตถ์ข้างใดข้างหนึ่งขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ออก ปลายนิ้วพระหัตถ์ตั้งขึ้นเรียกว่าการแสดงปางประทานอภัย

ประวัติ  

               พระอัฏฐารสซึ่งหมายถึงพระพุทธรูปประทับยืนที่นิยมสร้างกันในสมัยสุโขทัย สันนิษฐานกันว่า พระอัฎฐารสนี้ คือพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงเมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า "ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่ สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารสอันณึ่งลุกยืน " และสันนิษฐานกันอีกว่า วัดสะพานหินนี้น่าจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงช้างเผือกชื่อ รูจาคีรี ขึ้นไปนบพระทุกวันข้างขึ้น 15 ค่ำและข้างแรม 15 ค่ำ

การเดินทาง


                 วัดนี้อยู่นอกเขตกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยทางทิศตะวันตก สามารถขี่จักรยาน หรือมาโดยรถยนต์ได้ และนักท่องเที่ยวต้องลงชื่อในสมุดเยี่ยมก่อนเดินเท้าขึ้นไปสักการะ ใช้เวลาเดินเท้าขึ้นไปประมาณ 10-15 นาทีก็จะถึงยอดเขา นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่งดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้จากบนยอดเขานี้

วัดศรีสวาย



วัดศรีสวาย
         วัดศรีสวาย ตั้งอยู่ห่างออกไปทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุประมาณ 350 เมตร โบราณสถานสำคัญที่ตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ รูปแบบศิลปะลพบุรี ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน ได้พบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วแปลงเป็นพุทธสถานโดยต่อเติมวิหารขึ้นที่ด้านหน้า แล้วเป็นวัดในพุทธศาสนาภายหลัง
           วัดศรีสวาย เดิมเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ลักษณะเป็นปรางค์สามยอดแบบขอม มีคูน้ำล้อมรอบปรางค์สามองค์ โบราณสถานดังกล่าวนี้มีที่มาจากทรงปราสาทแบบขอม แต่ได้รับการดัดแปลงแตกต่างจากต้นแบบ เช่นส่วนประดับของปราสาทขอมที่เรียกว่า บันแถลง กลายเป็นรูปกลีบขนุน และปูนปั้นประดับกลีบขนุนเป็นรูปครุฑยุดนาคและเทวดา ปรางค์วัดศรีสวายจึงแตกต่างจากปรางค์สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีต้นแบบจาก ปรางค์ในศิลปะขอมและคล้ายคลึงแบบขอมมากกว่าปรางค์ในแบบของช่างสุโขทัย
              เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย ทรงพบรูปพระอิศวรและและโบราณวัตถุหินจำหลักเป็นทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ รูปพระนารายณ์สี่กร และชิ้นส่วนของเทวรูปและศิวลึงค์ทำด้วยสำริด จึงทรงสันนิษฐานว่า วัดศรีสวายนี้คงเป็นสถานที่พวกพราหมณ์ใช้ทำพิธีโล้ชิงช้า (ตรียัมปวาย) แต่ต่อมาเมื่อคนไทยเข้ามาครอบครองกรุงสุโขทัย วัดนี้จึงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา